ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ Temporomandibular Joint Disorder
ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ หรือ Temporomandibular Joint Disorder (TMD) อาการนี้อาจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของขากรรไกรเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ข้อต่อขากรรไกร หรือ เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวด้วย (Masticatory muscles) มักเกิดจากทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณข้อต่อขากรรไกรมากผิดปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะเครียด การใช้กล้ามเนื้อผิดปกติ หรืออาจะเกิดจากการนอนกัดฟัน
ทั้งนี้ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และสามารถรักษาข้อต่อขากรรไกรอักเสบได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด
ทำความรู้จัก ข้อต่อขากรรไกร
ข้อต่อขากรรไกร หรือ Temporomandibular Joint (TMJ) ประกอบด้วย กระดูก 2 ชิ้นเชื่อมต่อกัน คือ กระดูกขมับ (Temporal bone) และกระดูกขากรรไกรล่าง (Mandible bone) โดยมีแผ่นรองกระดูกข้อต่อขากรรไกร หรือ หมอนรองกระดูกข้อต่อขากรรไกร (Articular disc) วางอยู่ระหว่างกระดูกทั้ง 2 ชิ้น ทำหน้าที่ลดแรงกด และลดแรงเสียดสีของกระดูกทั้ง 2 ชิ้นขณะเคลื่อนไหว และเอ็นยึดต่าง ๆ โดยทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (Masticatory muscles) คือ Masseter muscle, Temporalis muscle และ Pterygoid muscle ทำให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้
การเคลื่อนไหวของข้อต่อ ทำได้ 2 ลักษณะ คือ การเคลื่อนที่แบบหมุน (Rotational movement) และการเคลื่อนที่แบบเลื่อนที่ (Translational movement) ลักษณะการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อลักษณะนี้เป็นลักษณะพิเศษ บางครั้งเรียกการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ว่า เป็นข้อต่อแบบบานพับลื่นไถล (Ginglymoarthrodial joint or Synovial sliding-ginglymoid joint) โดยลักษณะของพื้นผิวข้อต่อขากรรไกรจะแตกต่างจากกระดูกข้อต่อที่มีไขข้อ (Synovial joint) อื่น ๆ ซึ่งมีพื้นผิวข้อต่อที่ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเส้นใย (Fibrocartilage) ในขณะที่ข้อต่อที่มีไขข้ออื่น พื้นผิวจะประกอบด้วยกระดูกอ่อนโปร่งแสง (Hyaline cartilage)
ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ มีอาการอย่างไร
ลักษณะทางคลินิกของผู้ที่มีอาการอักเสบจะมีอาการสำคัญคือ มีอาการเจ็บ ปวด บริเวณข้อต่อ ทั้งขณะพัก และขณะใช้งาน อาจเป็นเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง จากการศึกษาพบว่า 54% ผู้ที่มีอาการอักเสบจะมีอาการทั้งสองข้าง ใขณะที่ 26.3% มีอาการข้างขวาเพียงข้างเดียว และ 19.7% มีอาการข้างซ้ายเพียงข้างเดียว บางครั้งอาจมีอาการปวดแปลบได้ในขณะใช้งาน เนื่องจากกล้ามเนื้อบดเคี้ยวอาจะมีอาการปวดจากการหดเกร็งตาม Reflex ปกป้องตนเองทางกายภาพ (Self-preservative physiologic reflex) เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่มากขึ้นจากการใช้งาน จึงรู้สึกปวดแปลบขึ้นมาได้
ในบางราย อาจพบอาการติดขัดบริเวณข้อต่อขากรรไกรในช่วงเวลาเช้า หรือ ขากรรไกรค้าง อาจจะเกิดอาการติดขัด หรือค้าง ได้มากถึง 30 นาที หรือบางรายมีอาการบวมเกิดขึ้นที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร โดยเฉพาะในรายที่มีอาการบาดเจ็บ (Trauma) เยื่อบุข้ออักเสบ (Synovitis) จะทำให้เกิดการบวม อาจนำไปสู่การที่ฟันหลังสบเปิด (Posterior open bite) ด้านเดียวกับด้านที่บวม ขณะที่ฟันหลังอีกฝั่งสบหนักขึ้น จะพบการเฉ (Deviation) ของขากรรไกรล่างไปด้านตรงกันข้าม ทำให้ขากรรไกรเคลื่อนที่ได้ในระยะที่ทำได้น้อยลง และรูปแบบการเคี้ยวจะเปลี่ยนไป เนื่องจากข้อต่อขากรรไกรบางส่วนถูกทำลายลงไป
อาการที่พบได้ในผู้ที่มีอาการอักเสบ อาจมีเสียงกรอบแกรบ (Crepitus) หรือเสียงคลิก (Clicking) ที่ข้อต่อขากรรไกร ลักษณะของเสียงและความดังแตกต่างกันไปในแต่ละราย อย่างไรก็ดี ลักษณะของเสียงไม่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงมากน้อยของการอักเสบที่บริเวณขากรรไกร การมีเสียงเพียงเล็กน้อย อาจมาจากภาวะอักเสบที่รุนแรงมากได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและความรุนแรง

- ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร (หน้าใบหู)
- ปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยว
- รู้สึกอ้าปาก หุบปาก ได้จำกัด
- มีเสียงกรอบแกรบ หรือ เสียงคลิก บริเวณหน้าหู
- ขากรรไกรค้าง อ้าไม่ได้ หรืออ้าแล้วหุบไม่ได้
- มีอาการปวดบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
- มีการเบี่ยงของขากรรไกรล่าง เวลาเคลื่อนไหว
- ปวดศีรษะ ปวดตา หรือปวดคอ อยู่บ่อยครั้ง
- รู้สึกปวดฟันได้ เวลากัด หรือเคี้ยว
- รู้สึกเมื่อย ล้า หรือ ชา บริเวณใบหน้า
สาเหตุ ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับพยาธิกำเนิดของอาการข้อต่อขากรรไกรอักเสบ อ้างอิงจาก Review Article ใน ชม. ทันตสาร อาจแบ่งสาเหตุที่เกี่ยวข้อง และทำให้เกิดอาการได้ เป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพในการปรับตัวตอบสนองต่อแรงที่ข้อต่อขากรรไกร และ แรงที่กระทำที่ข้อต่อขากรรไกร
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการปรับตัวตอบสนองต่อแรงที่ข้อต่อขากรรไกร
ในภาวะปกติของร่างกาย ข้อต่อขากรรไกรมีความสามารถในการปรับตัวเองเพื่อให้ตอบสนองต่อแรงต่าง ๆ ในการใช้งานอยู่แล้ว แต่ถ้ามีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวเพิ่ม เช่น อายุ โรคทางระบบพันธุกรรมบางอย่าง ฮอร์โมน การอักเสบ หรือ การซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ จะรบกวนความสามารถในการปรับตัวเองของกระดูกขากรรไกรให้ผิดปกติไปได้ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ความหนาแน่นและคุณสมบัติบางอย่างของกระดูกลดลง และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปรับตัวในการตอบสนองต่อแรงที่ข้อต่อขากรรไกรลดลง
ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจแสดงการอักเสบของเนื้อเยื่อไขข้อรุนแรง ทำให้มีการปวด บางรายอาจพบว่ามีอาการขากรรไกรล่างถอยไปด้านหลัง (Retrognathia) และฟันหน้าสบเปิด (Anterior open bite)
ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการอักเสบที่ข้อต่อขากรรไกร ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในซีรัม (Serum) และน้ำไขข้อ (Synovial fluid) ของผู้ที่มีอาการอักเสบของกระดูกข้อต่อขากรรไกรสูงกว่าคนปกติทั่วไป เอสโทรเจนยังมีความสามารถในการควบคุมการทำลายเนื้อพื้นนอกเซลล์ของกระดูกอ่อนได้ ผ่านการกระตุ้นให้มีการแสดงออกของเอนไซม์หลากหลายชนิด
การอักเสบที่เกิดขึ้น มีผลต่อความสามารถในการปรับตัวเองของกระดูกขากรรไกรให้ผิดปกติชัดเจนมาขึ้นเมื่อการอักเสบนั้นเรื้อรัง แผ่นรองข้อต่อจะรับแรงได้น้อยลงและไม่มีประสิทธิภาพ การปรับตัวตอบสนองต่อเเรงในการใช้งานลดลง และอาจส่งผลให้เกิดการทะลุของแผ่นรองข้อต่อได้
ความผิดปกติของการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ที่อาจจะถูกกระตุ้นได้จากหลายสาเหตุ การสร้างหลอดเลือดใหม่ ความไม่สมดุลของอัตราการทำลายและสร้างกระดูก เป็นสาเหตุที่สำคัญและส่งผลทำให้โครงสร้างของกระดูกข้อต่อขากรรไกรผิดปกติไป และไม่สามารถตอบสนองต่อแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงที่กระทำต่อข้อต่อขากรรไกร
ปกติแล้ว จะพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กระดูกอ่อน เปลี่ยนไปเป็นเซลล์สร้างกระดูกมากขึ้น หากเกิดแรงเชิงกลมากขึ้น และเมื่อเกิดแรงในระยะเวลาที่นานขึ้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้ามีแรงมากต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าที่ข้อต่อขากรรไกรจะปรับตัวเองเข้ากับสมดุลใหม่ได้ทัน จะทำให้เกิดการทำลายกระดูกอ่อนมากขึ้นนั่นเอง แม้จะมีแรงเพียง 40 นิวตัน กดที่ฟันหน้าขณะหุบปาก ซึ่งแรงขนาดนี้น้อยกว่า 10% ของแรงปกติที่สามารถทำได้ของระบบบดเคี้ยว ก็สามารถเกิดการทำลายกระดูกอ่อนได้ เนื่องจากแรงเสียดสีที่มีมาก จะเหมือนกับว่ามีแรงกดอยู่แล้วในข้อต่อขากรรไกร เมื่อรวมกับแรงจากภายนอกจึงทำให้เกิดแรงกดมหาศาลและทำลายกระดูกอ่อน และอาจมาจากภาวะ นอนกัดฟัน หรือ ภาวะเครียด ได้
การสบฟันที่ผิดปกติ (Malocclusion) อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงมากผิดปกติที่โหลดลงบนข้อต่อขากรรไกร พบว่าผู้ที่มีภาวะกระดูกข้อต่อขากรรไกรอักเสบและมีความผิดปกติของการสบฟัน (Skeletal malocclusion) ประเภท II และประเภท III มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับข้อต่อขากรรไกร เมื่อมีแรงโหลดลงบนข้อต่อขากรรไกรมากขึ้นทำให้เกิดการทำลายกระดูกอ่อน ถ้ายังมีแรงโหลดกดลงอย่างต่อเนื่องร่วมกับมีการอักเสบของเนื้อเยื่อไขข้อ จึงทำให้มีอาการปวด เจ็บ บวม ไขข้อถูกสร้างได้น้อยลง การปรับตัวเองของข้อต่อขากรรไกรมีประสิทธิภาพลดลง จึงทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานขากรรไกรลดลง มีความผิดปกติ และแสดงอาการออกมาภายนอกนั่นเอง
สรุป สาเหตุที่เป็นไปได้ ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ
- พฤติกรรมการบดเคี้ยวที่ไม่เป็นปกติ (Oral parafunction habits) เช่น การบดฟัน การขบเน้นฟัน การฉีก เคี้ยว อาหารที่แข็งหรือเหนียวมากเกินไปเป็นประจำ การเคี้ยวอาหารข้างเดียว การนอนกัดฟัน (Sleep bruxism)
- พฤติกรรมของท่าทางของศีรษะและลำคอที่ผิดปกติ เช่น คอยื่นไปทางด้านหน้า คางยื่น มีผลต่อกระดูกขากรรไกรล่าง ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยว หรือ ข้อต่อขากรรไกร
- การสบฟันผิดปกติ ส่งผลให้เกิดแรงเสียดสี หรือ แรงกด มากเกินไป ที่ข้อต่อขากรรไกร
- ปัจจัยที่มีผลมาจากภาวะทางอารมณ์ เช่น ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ทำให้เกิดการการขบฟัน กัดฟัน มากกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว หรือ ทำให้เกิดการนอนกัดฟัน
- สาเหตุจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เกิดความเสื่อมต่าง ๆ จากการใชังาน หรือ ความเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น
- สาเหตุจากโรคทางระบบ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัสอีริทีมาโตซัส โรคหนังแข็ง
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
- สาเหตุจากการเกิดอุบัติเหตุกระแทกโดยตรงที่บริเวณขากรรไกร
การวินิจฉัย ภาวะ ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ
เมื่อสงสัยว่า อาจมีภาวะข้อต่อขากรรไกรอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะใช้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะความผิดปกติบริเวณ ขมับ ขากรรไกร อาศัยการตรวจทางคลินิกต่าง ๆ การซักประวัติอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้ภาพถ่ายทางรังสี ร่วมกับการตรวจ Polysomnography หรือการตรวจคุณภาพการนอนหลับ Sleep Test
การวินิจฉัยด้วยประวัติสุขภาพ

แพทย์เฉพาะทางจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ เกี่ยวกับประวัติอาการเจ็บ ปวด ที่เกิดขึ้นบริเวณฟัน ขากรรไกร อาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณใบหน้า ปวดบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ความจำกัดในอ้าปาก หุบปาก อาการขากรรไกรค้าง มีเสียง และอื่น ๆ
ทั้งนี้ อาจสอบประวัติการรักษาเกี่ยวกับภาวะทางจิตสังคมร่วมด้วย เช่น ภาวะเครียด นอนไม่หลับ หรือประวัติการรักษาเกี่ยวกับภาวะทางจิตใจ ในบางรายจะสอบถามบุคคลที่นอนร่วมกันเป็นประจํา เช่น คู่สามี ภรรยา แฟน พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลสังเกตอาการที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ
วินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย

แพทย์เฉพาะทางจะสั่งตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการแนะนำการรักษาที่ครบ ครอบคลุมมากขึ้น เช่น สั่งทำ X-Ray สั่งทำ CBCT หรือ CT Scan เพิ่มเติม แพทย์เฉพาะทางจะใช้ภาพถ่ายทางรังสี ประเมินรูปร่างและการเคลื่อนที่ของข้อต่อกรรไกร ประเมินภาพข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าปาก หุบปาก เพื่อดูความเสื่อม ความอักเสบ ที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อขากรรไกร
การวินิจฉัยด้วยการตรวจการนอนหลับ

การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test จะเฝ้าดู Sleep Stage และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับตลอดทั้งคืน เพื่อพิจารณารูปแบบ หรือ วงจรของการนอนหลับ ว่ามีรูปแบบที่ผิดปกติไปหรือไม่ มีสิ่งรบกวนระหว่างการนอนหลับอะไรบ้าง ทั้งจากภายในและภายนอกที่ทําให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ เช่น การกระตุกแขนขาที่ทําให้หลับไม่สนิท การนอนละเมอมากผิดปกติหรือที่อันตรายมาก คือ การหยุดหายใจขณะหลับ หรือ ท่าทางระหว่างการหลับ และรวมไปถึงการนอนกัดฟันหรือไม่ ขณะนอนหลับ
วิธีรักษา ข้อต่อขากรไกรอักเสบ
รักษาด้วย การจ่ายยา
รักษาด้วย การฉีดยา
รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด
รักษาด้วยการดัดดึงข้อต่อ
รักษาด้วย Myofunctional Therapy
รักษาด้วยวิธีการทางทันตกรรม
รักษาด้วยการใช้ Splint
รักษาด้วยการใช้ คลื่น Ultra sound
รักษาด้วยการใช้ Laser
รักษาด้วยการใช้ RF
รักษาด้วย Transcutaneous electrical nerve stimulation
รักษาด้วย การผ่าตัด
เหตุผลสำคัญ เลือกรักษาอาการข้อต่อขากรรไกรอักเสบ ที่ VitalSleep & Wellness
แพทย์เฉพาะทาง Dental Sleep Medicine และแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมสาขาที่เกี่ยวข้อง มีประสบการณ์ด้านการรักษาข้อต่อขากรรไกรอักเสบ
ที่ VitalSleep & Wellness นําเสนอแนวทางการรักษาข้อต่อขากรรไกรอักเสบ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ออกแบบเฉพาะบุคคล รักษาได้ทั้งแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในการรักษา
เน้นการตรวจเชิงลึกหลายแนวทาง เพื่อค้นหาและวินิจฉัยสาเหตุการรักษาที่แท้จริง มุ่งเน้นรักษา และ ฟื้นฟู เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ด้วยการบำบัดกล้ามเนื้อใบหน้าและทางเดินหายใจส่วนต้น Myofunctional Therapy
นําเสนอการรักษาที่หลากหลาย ออกแบบเฉพาะบุคล เน้นการรักษาแบบผสมผสมการรักษาหลายอย่าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ครอบคลุมทุกความแตกต่างของแต่ละบุคคล