นอนกรน ปัญหาใหญ่ที่ทำลายสุขภาพ
ปัญหาอาการนอนกรน เป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยเกิดขึ้นได้ในทุกๆคน เเต่โดยเฉพาะในเพศชายมีอัตราของการเกิดภาวะนอนกรนที่สูงมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า โดยจากข้อมูลการศึกษาพบว่า ในช่วงวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ชายประมาณ 40% และ ผู้หญิงประมาณ 24% มีภาวะอาการนอนกรนเกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ
ซึ่งปัญหาของการนอนกรนไม่เพียงเเต่เป็นผลร้ายที่ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว แต่ยังเป็นปัญหาที่ส่งเสียงดังรบกวนสร้างความน่ารำคาญให้กับผู้ที่นอนร่วมกัน หลายๆคนคงอาจเคยลองรักษาด้วยวิธีต่างๆมากมาย เเต่สุดท้ายก็ยังนอนกรนเสียงดังอยู่ดี จะต้องรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มาหาคำตอบได้ที่บทความนี้

สาเหตุของการเกิด ภาวะนอนกรน
สาเหตุของการเกิดอาการนอนกรนในเเต่ละบุคคลนั้น อาจมีสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะขึ้นอย่างแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล เนื่องจากการนอนกรนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยอาจแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลักๆได้ดังนี้
1. โครงสร้างทางกายวิภาค
ความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้า
ปัญหาจากกระดูกขากรรไกรที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ มีลักษณะของขากรรไกรล่างที่มีขนาดเล็ก แคบเเละสั้นมากกว่าปกติ ซึ่งอาจสังเกตจากใบหน้าได้ว่าจะมีลักษณะ คางสั้น มากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาจมูกคด หรือ จมูกเบี้ยว ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการนอนกรน
อ่านเพิ่มเติม ผ่าขากรรไกรแก้นอนกรน
เนื้อเยื่ออ่อนภายในลำคอ เเละ ช่องทางเดินหายใจ
เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักๆที่ก่อให้เกิดภาวะนอนกรน เนื่องจากเมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆภายในร่างกายก็มักจะเสื่อมสมรรถภาพลงตาม รวมไปถึงกล้ามเนื้อในส่วนบริเวณลำคอ และช่องทางเดินหายใจ เช่น กล้ามเนื้อโคนลิ้น เพดานอ่อน ที่เสื่อมสภาพลงและไม่สามารถตึงตัวอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ เกิดการหย่อนคล้อยตัวลงในขณะนอนหลับ และอุดกั้นกีดขวางทางเดินหายใจ
ต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต
เป็นปัญหาที่มักจะพบและเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็ก เมื่อต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์โตขึ้น จากการติดเชื้อหรืออักเสบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการ คัดจมูก, น้ำมูกไหล , ไอ และมีอาการนอนกรน เนื่องจากตำแหน่งของต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ จะอยู่ในบริเวณส่วนด้านหลังของโพรงจมูก เมื่อเกิดการอักเสบและมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเกิดการกีดขวางทางเดินหายใจ ส่งผลให้หายใจลำบากมากขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กๆนอนกรน
2. พฤติกรรมส่วนตัว และ สภาพแวดล้อม
น้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน : มีปริมาณไขมันสะสม ในบริเวณช่วงรอบคอที่มากเกินไป จนกดทับทางเดินหายใจในขณะที่เอนตัวลงนอน ทำให้หายใจได้ลำบาก เเละเกิดการนอนกรน
ท่านอน : การนอนในท่าหงายหน้าขึ้น เป็นท่านอนที่เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะนอนกรนที่มากขึ้น เนื่องจากการนอนหงายทำให้ลิ้นไก่ และ เพดานอ่อน มีโอกาสที่จะตกลงมาที่ด้านล่างเเละอุดกั้นทางเดินหายใจ
การสูบบุหรี่ : หากมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่อย่างเป็นประจำ สารเคมีที่มีอยู่ในบุหรี่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองกับเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจ ส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ บวม และตีบแคบ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในช่วงก่อนนอน มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อภายในช่องคอ เเละทางเดินหายใจ ซึ่งเสี่ยงต่อการนอนกรน
อันตรายจากการนอนกรน
การนอนกรนอย่างต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจในระยะยาว โดยอันตรายของภาวะนอนกรน มักจะเกิดขึ้นจากการที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นร่วมด้วย (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งเป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นร่วมกับการนอนกรน โดยเป็นภาวะที่ทำให้เกิดปัญหาการหายใจที่ลำบากในขณะหลับ หรือ เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆพักๆระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบต่างๆภายในร่างกาย ดังนี้
โรคเบาหวาน : การหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้ร่างกายเเละสมอง ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ระดับของออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลต่อร่างกายให้เกิดการปรับตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการดึงน้ำตาลในร่างกายมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดความต้านทานต่ออินซูลินที่สูงขึ้น เเละเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงเกิด “โรคเบาหวาน”
โรคความดันโลหิตสูง : การหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง หัวใจเกิดการทำงานที่หนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด และส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงตามมา
โรคหลอดเลือดสมองตีบ,แตก : สมองได้รับออกซิเจนหล่อเลี้ยงลดน้อยลง และมีการขาดช่วงเป็นพักๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมของคราบพลัคในหลอดเลือดแดง เสี่ยงเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันมากขึ้น
โรคหัวใจวาย : กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ปัญหาทางเพศ : สมรรถภาพทางเพศลดลง ความต้องการทางเพศลดน้อยลง
ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตใจและอารมณ์ : เกิดปัญหาอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เครียดบ่อย และอาจก่อให้เกิดปัญหาภาวะซึมเศร้า
ระบบสมองเกิดความเสียหาย : ระบบประมวลผลของสมอง (Cognitive skill) เกิดความเสียหาย เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงในขณะหลับ ทำให้สมองเกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำงานได้ช้าลง ระบบการคิดวิเคราะห์ข้อมูลมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง
อ่านเพิ่มเติม การฝึกสมองสำคัญอย่างไร?

นอนกรน รักษายังไงให้หาย
การนอนกรนเกิดจากการที่อวัยวะกล้ามเนื้อต่างๆภายในช่องคอ และทางเดินหายใจส่วนต้น เกิดการหย่อนคล้อย ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ซึ่งวิธีการรักษาปัญหาอาการนอนกรนให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี คือการรักษาปัญหาจากสาเหตุ เเก้ไขปัญหาที่ต้นตอ โดยสามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้ดังนี้
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
Myofunctional Therapy (การบำบัดกล้ามเนื้อบนใบหน้าเเละทางเดินหายใจส่วนต้น)
เป็นการรักษาปัญหาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุเพียงวิธีเดียว ซึ่งการบำบัดกล้ามเนื้อจะมีเป้าหมายในการรักษาคือ เสริมสร้างความแข็งแรงและแก้ไขปัญหาการทำงานที่ผิดปกติในส่วนของกล้ามเนื้อโคนลิ้น, ขากรรไกร, เพดานอ่อน, และทางเดินหายใจส่วนต้น ให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเดิม และมีความแข็งแรงที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการหย่อนคล้อยตัวลงและอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
Oral Appliance (เครื่องมือทันตกรรมรักษานอนกรน)
อุปกรณ์ทันตกรรมที่ใช้สำหรับใส่ครอบฟันในขณะหลับ โดยมีหน้าที่สำคัญในการช่วยขยายช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ป้องกันกล้ามเนื้อโคนลิ้นและกล้ามเนื้อภายในช่องคอหย่อนคล้อยตัวลงอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งตัวอุปกรณ์จะช่วยในการจัดตำแหน่งของขากรรไกรและลิ้น ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องขณะหลับ ทำให้สามารถหายใจได้สะดวกในขณะหลับ ลดการนอนกรนและลดอัตราการหยุดหายใจขณะหลับ
ตัวอุปกรณ์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอาการนอนกรนเเละภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ต้องการเเก้ไขปัญหานอนกรนด้วยวิธีที่มีความสะดวกสบาย เนื่องจากตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถพกพาได้ง่าย ทำให้สามารถใช้ได้ในทุกๆคืน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน จึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษานอนกรนที่เป็นที่นิยมอย่างมาก
RF Bot (คลื่นความถี่วิทยุแก้อาการนอนกรน)
เป็นวิธีการรักษานอนกรนด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ส่งผ่านพลังงานและเปลี่ยนกลายเป็นความร้อนไปยังบริเวณเพดานอ่อน หรือ บริเวณโคนลิ้น เพื่อช่วยกระตุ้นคอลลาเจนของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น ให้เกิดการยกกระชับตัวที่มากขึ้น ลดการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อ
ซึ่งจะมีผลลัพธ์ในการรักษาที่แตกต่างจากการใช้เลเซอร์แก้นอนกรนคือ การใช้คลื่นความถี่วิทยุ RF Bot สามารถรักษาได้ทั้งอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในขณะที่เลเซอร์นอนกรนไม่ได้ช่วยรักษาปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ อีกทั้งการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ยังใช้ระยะเวลาในการทำที่น้อยกว่า และมีผลลัพธ์การรักษาที่อยู่ได้นานกว่า
2. การรักษาแบบผ่าตัด
ผ่าตัดตกเเต่งเพดานอ่อน หรือ ลิ้นไก่ ด้วยเลเซอร์
เป็นวิธีการผ่าตัดรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ โดยจะนำเอาเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและลิ้นไก่ที่มีความหย่อนคล้อยกีดขวางทางเดินหายใจออก เพื่อเป็นการขยายช่องทางเดินหายใจให้กว้างมากขึ้น เเละสามารถหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในขณะหลับ
การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูกคด
การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผนังกั้นช่องจมูกคด มีความผิดปกติแต่โดยกำเนิด หรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยเเก้ไขปัญหาของช่องจมูกที่คดเเละมีความผิดปกติ ให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด เพื่อช่วยให้การหายใจเป็นปกติและลดอาการกรน
ผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร
เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอาการนอนกรนที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของใบหน้าขากรรไกรมีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น ขากรรไกรล่างถอยไปด้านหลังมากเกินไป หรือ ขากรรไกรล่างมีขนาดที่เล็กและแคบมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ขนาดของช่องทางเดินหายใจส่วนต้นมีขนาดที่เล็กลงตาม การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรจึงจะช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนต้นมีขนาดที่กว้างขยายมากขึ้น
สรุป
การรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุดคือ การรักษาปัญหาจากต้นเหตุของอาการที่เกิดขึ้นของตนเอง ด้วยวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งสามารถตรวจหาสาเหตุการนอนกรนที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ด้วยการตรวจ Sleep Test
โดยที่ VitalSleep Clinic เรามีบริการตรวจสุขภาพการนอนหลับที่ส่งตรงถึงบ้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง หรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการนอนหลับ สามารถตรวจได้จากที่บ้านของตัวเอง ด้วยโปรเเกรม Home Sleep Test โดยมีเเพทย์เฉพาะทางในการรักษาปัญหานอนกรน เป็นผู้อ่านผลตรวจสุขภาพการนอนหลับเพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของการนอนกรน และใช้เป็นแนวทางการวางแผนรักษาที่เหมาะสมสำหรับอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล